สงครามกรุงทรอย

          สงครามกรุงทรอย (Trojan War) เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่มีชื่อเสียงที่สุดในตำนานกรีกโบราณ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กันระหว่างเมืองทรอย (Troy) กับกรีก เมืองทรอยมีจริงหรือไม่ คำถามนี้ต่างเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างช้านาน แต่จากการค้นพบซากเมืองโบราณที่ Hisarlik ที่ประเทศตุรกี ในศตวรรษที่ 19 ทำให้นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าเมืองทรอยนั้นมีอยู่จริง

                 

          กรุงทรอย (Troy) หรือที่เรียกว่า “อิลิออน” (Ilion) ในภาษากรีกโบราณ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลอีเจียน ซึ่งผู้ค้นคือ ไฮน์ริช ชลีมานน์ (Heinrich Schliemann) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ได้เริ่มขุดที่ Hisarlik ในปี ค.ศ. 1871 จากการศึกษาซากโบราณสถานพบว่า เมืองทรอยมีการสร้างขึ้นเป็นชั้นๆ หลายชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของชุมชนหลายยุคสมัย ซึ่งชั้นที่เกี่ยวข้องกับสงครามกรุงทรอยน่าจะเป็นชั้นที่เรียกว่า Troy VIIa หรือ Troy VI

          อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของสงครามกรุงทรอยตามตำนานกรีกมีส่วนที่เป็นเรื่องแต่งและตำนานที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมด ตามตำนานสาเหตุการเกิดสงครามนั้นเริ่มต้นก่อนที่ซุส (Zeus) เทพเจ้าแห่งสายฟ้า ผู้ปกครองสวรรค์จะแต่งงานกับเฮร่า (Hera) เสียอีก ในตอนนั้นซุสและโพไซดอน (Poseidon) ต่างหมายปองนางพรายทะเลนางหนึ่งซึ่งมีนามว่า เธทิส (Thetis) แต่มีคำทำนาย (Prophecy) ว่านางเธทิสจะให้กำเนิดบุตรชายที่ยิ่งใหญ่กว่าพ่อของเขา ทำให้ซุสและโพไซดอนลังเลที่จะแต่งงานกับเธอ เนื่องจากไม่อยากให้ลูกชายของเธอมีอำนาจเหนือกว่าตน ดังนั้นซุสจึงตัดสินใจให้เธอแต่งงานกับเพลิอัส (Peleus) ซึ่งเป็นมนุษย์ แต่เธทิสมีเงื่อนไขว่าเทพเจ้าทุกองค์ต้องเข้าร่วมงานแต่งงานของเธอ ในงานแต่งงานเทพเจ้าทุกองค์ได้รับเชิญให้มาร่วมงาน แต่มีองค์เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้รับเชิญซึ่งก็คือ เอริส (Eris) เทพีแห่งความบาดหมาง ทำให้เธอไม่พอใจและต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่าทวยเทพ จึงได้โยนแอปเปิ้ลทองคำ (Golden Apple) ที่จารึกคำว่า “te kalliste” ซึ่งเป็นภาษกรีกโบราณหมายถึง “สำหรับผู้ที่งดงามที่สุด” (for the fairest) เข้าไปในโถงงานเลี้ยง แอปเปิ้ลทองคำนี้จึงนำไปสู่การทะเลาะกันระหว่างเทพี 3 องค์ คือ เฮร่า (Hera) อธีน่า (Athena) และ อะโฟร์ไดที (Aphrodite) ทั้ง 3 ต่างอ้างว่าตนคือผู้ที่งดงามที่สุด เพื่อยุติการทะเลาะครั้งนี้ ซุสจึงบอกพวกนางให้ไปที่ภูเขาไอดา ใกล้เมืองทรอย ไปพบเจ้าชายปารีส (Paris) ซึ่งจะเป็นกรรมการในการจัดสินความงามครั้งนี้ แม้ปารีสจะเป็นเจ้าชาย แต่ตัวเองนั้นทำหน้าที่เลี้ยงแกะให้บิดาของตนอยู่ แล้วเจ้าชายปารีสเป็นใครกันล่ะ? ทำไมต้องมาเลี้ยงแกะด้วย? แม้จะเป็นบุตรชายของกษัตริย์ไพรอัม (Priam) และราชินีเฮคคิวบา (Hecuba) แห่งเมืองทรอย ในคืนก่อนที่ราชินีเฮคคิวบาจะให้กำเนิดปารีสนั้น เธอได้ฝันว่าได้ให้กำเนิดคบเพลิงที่ลุกไหม้ทั่วเมืองทรอย จึงได้นำความฝันนี้ไปขอคำปรึกษาจากโหราจารย์ ซึ่งความฝันเป็นลางบอกเหตุว่าบุตรชายที่ให้กำเนิดนั้นจะนำความพินาศมาสู่เมืองทรอย ด้วยความหวาดกลัวราชินีเฮคคิวบาและกษัตริย์ไพรอัมจึงนำทารกไปทิ้ง แต่ด้วยบุญของทารก คนเลี้ยงแกะจึงได้เก็บปารีสมาเลี้ยง ในวันที่ตัดสินผู้งดงามที่สุดนั้น เฮอร์มีส (Hermes) เทพเจ้าแห่งการสื่อสารและเป็นผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ ได้นำเทพีทั้ง 3 องค์มาหาเจ้าชายปารีส เพื่อชัยชนะทั้ง 3 ต่างติดสินบนเจ้าชายปารีส เฮร่าสัญญาว่าจะทำให้เจ้าชายปารีส เป็นกษัตริย์มีอำนาจปกครองทั่วยุโรปและเอเชีย อธีน่าสัญญาว่าจะทำให้เจ้าชายมีชัยชนะในการรบทุกครั้งและอะโฟร์ไดทีสัญญาว่าจะให้เจ้าชายได้ครองหญิงที่โฉมงามที่สุดในโลก แน่นอนเจ้าชายปารีสไม่ใช่นักรบจึงได้มอบแอปเปิ้ลทองคำตัดสินให้อะโฟร์ไดทีเป็นผู้ชนะ หญิงงามผู้นั้นคือ เฮเลน (Helen) แต่เธอดันมีสามีแล้วซึ่งก็คือ เมเนเลอัส (Menelaus) กษัตริย์แห่งเมืองสปาร์ตา (Sparta)

        เจ้าชายปารีสได้เดินทางไปเมืองสปาร์ตาและได้ลักพาตัวเฮเลนกลับเมืองทรอย จึงทำให้เกิดสงครามระหว่างเมืองทรอยและกรีก สงครามนี้มีระยะเวลาที่ยาวนานถึง 10 ปี ตามที่ได้บันทึกไว้ในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) ของโฮเมอร์ (Homer) สงครามกรุงทรอยไม่เพียงแต่ทำลายเมืองทรอยและประชาชนของเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อนักรบของกรีกที่เดินทางกลับบ้านหลังสงครามอีกด้วย สงครามกรุงทรอยเป็นตำนานที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณกรรมและศิลปะในยุคต่อมา และยังคงเป็นที่รู้จักและศึกษาในวัฒนธรรมตะวันตกจนถึงปัจจุบัน 

เอกสารอ้างอิง

Hamilton, E. (2017). Mythology: Timeless tales of gods and heroes. Hachette Book Group.

Morford, M. (2010). Classical mythology (10th ed.). Oxford University Press.

 

ผู้เขียนบทความ : อาจารย์เฟื่องลดา ชมชื่น

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา

         







371 ครั้ง

Address
คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ )
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์/โทรสาร : 035709208 , 0899009462

สายตรงผู้บริหาร

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 503 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 11808 ครั้ง
  • ปีนี้ : 131594 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 364987 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ