การล่มสลายของหอบาเบลกับจุดกำเนิดของการแปล

 

               การแปลเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารระหว่างมนุษย์โดยเป็นการสื่อสารระหว่างภาษาหรือสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อสารที่มีความแตกต่างกัน การแปลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พัฒนา และนำความก้าวหน้ามาสู่โลกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการแปลเกิดขึ้นในโลก ได้มีการศึกษา วิจัยและค้นคว้าศาสตร์เกี่ยวกับการแปลมากมายในหลายแง่มุม แต่การศึกษาถึงประวัติศาสตร์และจุดเริ่มต้นของการแปลกลับยังคงมีอยู่น้อยมาก จนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่กล่าวถึงจุดกำเนิดของการแปล มีเพียงข้อสันนิฐานของผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลที่ได้อ้างอิงถึงอักษรลิ่มสองภาษาจากวัฒนธรรมชาวสุเมเรียนและอัสซิเรียน ซึ่งนำไปสู่การอนุมานว่า เมื่อครั้งอดีตกาลก่อน 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช นครสุเมเรียนน่าจะเป็นชุมทางศูนย์กลางในการค้า การแลกเปลี่ยนของเหล่านักเดินทางจากแหล่งที่มาต่างกัน และยังเป็นสถานที่พำนักของบรรดาเหล่านักแสวงบุญและนักปราชญ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสื่อสารเพื่อความเข้าใจระหว่างบุคคลที่ใช้ภาษาแตกต่างกันนั้น การแปลน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลานั้น โดยได้มีการอ้างอิงถึงการแปล บทกวีกิกาเมซจากภาษาสุเมเรียนเป็นภาษาเอเชีย (เปอร์เซีย) ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับว่า การแปลมีต้นกำเนิดอย่างน้อยก็คือตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช หากแต่สถานที่ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดการแปลที่มีหลักฐานชัดเจนนั้น ยังคงเป็นปริศนาและเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน บางทฤษฎีได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของการแปลในซีกโลกตะวันออกในรูปแบบของการคำสอนทางพุทธศาสนาจากอินเดียไปสู่ประเทศจีนที่ถือเป็นการแปลครั้งแรกของโลกตะวันออก ในขณะที่การแปลในซีกโลกตะวันตกที่น่าจะเป็นการแปลครั้งแรกของโลกนั้น คือการแปลคัมภีร์ฮิบรูไบเบิล (พันธะสัญญาเก่า)เป็นภาษากรีกในช่วงศตวรรษที่ 3   

 

               ในโลกของศาสนาคริสต์นั้น ได้มีการกล่าวถึงเรื่องราวที่นักวิชาการด้านการแปลหลายท่านเชื่อกันว่า เป็นต้นกำเนิดของการแปล กล่าวคือ ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 10-11 ได้กล่าวถึงการสร้างหอบาเบล โดย นิมโรด ผู้สืบเชื้อสายของโนอาห์และเป็นผู้ที่สร้างนครบาบิโลน ในดินแดนซินาร์ โดยได้กล่าวว่า “มาเถิด ให้เราสร้างเมืองสำหรับเรา และสร้างหอให้ยอดเทียมฟ้า ให้เราทำชื่อเสียงไว้ เพื่อเราจะไม่ถูกทำให้กระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดิน” แต่พระเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับเหตุผลของเขา พระองค์จึงทรงเสด็จลงมาทำลายหอบาเบลและทำให้ภาษาของชาวเมืองบาบิโลนวุ่นวายจนสื่อสารกันไม่ได้ จนในที่สุด นิมโรดไม่สามารถสร้างเมืองและหอบาเบลได้อีกต่อไป  ชาวเมืองบาบิโลนได้แยกย้ายกระจายไปจนทั่วผืนแผ่นดิน ซึ่งต่อมา นักภาษาศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่า ภายหลังจากการล่มสลายของนครบาบิโลน มีการพบการกำเนิดขึ้นของภาษาใหม่ถึง 70 ภาษา ซึ่งต่อมา นักวิชาการด้านการแปลได้มีความเห็นว่า ท่ามกลางหมู่ชนที่ใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไปนั้น ย่อมต้องมีกระบวนการในการสื่อสารระหว่างภาษาที่แตกต่าง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็คือการแปล นั่นเอง  

ผู้เขียนบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักกเมธ พวงทอง

สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา

 

 







297 ครั้ง

Address
คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ )
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์/โทรสาร : 035709208 , 0899009462

สายตรงผู้บริหาร

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 439 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 19821 ครั้ง
  • ปีนี้ : 139607 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 373000 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ