คนไทยมักจะได้ยินเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติมอญผ่านทางการศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัย โดยเฉพาะการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของกษัตริย์มอญที่มีพระนามว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” หรือ มะกะโท ผู้เป็นพระราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัยนั่นเอง แต่หากลงลึกไปในประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่าชนชาติมอญนั้นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ปรากฎจารึกภาษามอญโบราณกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการผสมผสานกันทางเชื้อชาติจนเป็นกลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญกระจายตัวอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำในหลายจังหวัด
ภาพ 1 แสดงอาณาเขตของอาณาจักรมอญโบราณ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน
แหล่งที่มา : เพจ Monkingdom Makato Dynasty
ภาพ 2 ภาพวาด พระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท) ที่ปรากฎอยู่ทั้งในพงศาวดารของรัฐมอญและในบันทึกประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัย
แหล่งที่มา : คณะกรรมการวันชาติมอญ ประเทศเมียนมาร์
ในประวัติศาสตร์การเมืองของอาณาจักรมอญ(พะโคหรือหงสาวดี) มักจะเกิดข้อขัดแย้งกับอาณาจักรพม่า(อังวะ)อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอาณาจักรมอญครอบครองดินแดนตอนล่างของประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล จึงโดดเด่นในด้านการค้า การเดินเรือ งานช่างและศิลปกรรม ต่างจากชาวพม่าซึ่งมีอำนาจอยู่ในดินแดนตอนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร จึงต้องการขยายดินแดนลงมายังพื้นที่ทางตอนล่างซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า จึงเป็นมูลเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่สงครามระหว่างแคว้น เริ่มจากการที่อาณาจักรพม่า(อังวะ) ขอคัมภีร์สำคัญคือ “พระไตรปิฎก” และ “พระมนูธรรมศาสตร์” จากอาณาจักรมอญ ซึ่งอาณาจักรมอญเองก็มิได้ส่งมอบให้ เพราะคัมภีร์ทั้งสองนั้นเป็นศาสตร์สำคัญของอาณาจักรที่ใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน การยินยอมส่งมอบให้แต่โดยดีจึงเสมือนกับการยอมจำนนต่ออำนาจของพระเจ้ากรุงอังวะ(พม่า) การปฏิเสธคำขอดังกล่าว จึงถูกใช้เป็นหนึ่งในหลายเหตุอ้าง เพื่อทำการรุกรานอาณาจักรมอญในเวลาต่อมา ซึ่งไทยจะได้รับทราบประวัติศาสตร์การสู้รบในส่วนนี้จากตำราเรื่อง “ราชาธิราช” ผลของสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานทำให้ชาวมอญบางส่วนทยอยเคลื่อนตัวมายังดินแดนราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
พระเจ้าราชาธิราช พระองค์เป็นกษัตริย์มอญ(ครองเมืองหงสาวดี) ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ ทรงรวบรวมอาณาจักรมอญทางใต้ของลุ่มน้ำอิรวดีให้เป็นปึกแผ่น อีกทั้งยังทรงนำทัพต่อต้านจากการรุกรานของพม่า(ครองเมืองอังวะ) ที่มีอิทธิพลอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ในสมัยอดีตประเทศไทยได้ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และการดำเนินยุทธวิธีทางการเมือง ผ่านทางวรรณกรรมเรื่อง “ราชาธิราช” เช่นเดียวกันกับประเทศจีนที่ศึกษาผ่านวรรณกรรม “สามก๊ก”
ภาพ 3 พระเจ้าราชาธิราช แหล่งที่มา : เพจ Monkingdom Makato Dynasty
ในประเด็นที่เกี่ยวกับ“พระมนูธรรมศาสตร์” และวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมอญ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ ดร.พิศาล บุญผูก ปราชญ์ชาวไทยเชื้อสายมอญ ผู้รวบรวมคัมภีร์ใบลานที่จารึกภาษามอญโบราณ รวมถึงการนำคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ มาถอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการและนักวิจัยรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังได้รับการอนุเคราะห์จากผู้นำชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญในด้านข้อมูล
ภาพ 4 คัมภีร์ใบลาน “พระมนูธรรมศาสตร์”
คติความเชื่อของชาวมอญนั้น เป็นความเชื่อที่นำคติชนวิทยาและวีรคติมาผสมผสานกับหลักการทางพุทธศาสนา จนเกิดเป็นหลักจารีตวัฒนธรรมที่แม้จะมีความเข้มงวดแต่ก็อยู่บนพื้นฐานของหลักศีลธรรมอันดีงาม มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการจัดระเบียบและการควบคุมทางสังคมให้สงบสุขเรียบร้อย หนึ่งในนั้นคือความเชื่อในเรื่องของการบูชาบรรพบุรุษหรือที่เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า “ผีมอญ” ซึ่งในบทความนี้จะเน้นอธิบายถึงความหมายของผีมอญในแง่มุมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะการตีความได้ 2 นัยยะคือ
1.ผีคือจารีตวัฒนธรรมที่เข้มงวด เพื่อใช้ในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความเรียบร้อย เช่น ข้อห้ามในการครองตนที่เปี่ยมไปด้วยพื้นฐานทางศีลธรรม หากไม่กระทำตามหลักการที่กำหนดไว้จะส่งผลให้ถูกผีลงโทษ หรือการกำหนดให้เจ้าเรือนหรือผู้เป็นใหญ่ในเรือนต้องสอดส่องดูแลบุตรหลานในครัวเรือนให้อยู่ในครรลองครองธรรมอยู่เสมอ มิเช่นนั้นเจ้าเรือนก็จะถูกผีลงโทษเช่นกัน หรือการมีข้อห้ามที่มิให้หญิงอื่นเข้ามาใต้ถุนเรือนเพราะผีไม่ชอบ(ซึ่งก็คือการมิให้หญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาเข้ามาในเรือนโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยสอดส่องดูแล เพื่อเลี่ยงปัญหาการนอกใจระหว่างสามี-ภรรยา) ดังนั้นจารีตวัฒนธรรมที่กำหนดขึ้นและมีผีคอยกำกับดูแลไม่ให้เกิดการละเมิด หรือการจัดวางห้องหับภายในเรือน โดยให้ห้องของผู้อาวุโสอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อเลี่ยงความร้อนในช่วงบ่าย อันแสดงถึงความกตัญญูของลูกหลาน หากไม่กระทำก็จะถูกผี(หรือจารีตวัฒนธรรม) ลงโทษ ฯลฯ ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ผีกับจารีตวัฒนธรรมที่เข้มงวดจึงเป็นสิ่งเดียวกัน นับเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดที่ใช้ “ผีมอญ” มากำกับให้ลูกหลานต้องดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของจริยธรรมอันดีงาม เพื่อจัดระเบียบสังคมให้สงบสุขเรียบร้อย
2.ผีคือระบบนามสกุล เช่นเดียวกับระบบแซ่ของจีนที่ใช้บ่งชี้ถึงสายตระกูล เพื่อให้ลูกหลานที่นับถือผีเดียวกันใช้ความสัมพันธ์เครือญาติสลายข้อขัดแย้ง การนับถือผีเดียวกันในความหมายนี้คือการมาจากสายตระกูลในระบบเครือญาติเดียวกัน ดังนั้นผู้อาวุโสในชุมชนจึงสามารถใช้ประเด็นนี้ในการช่วยสลายข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังมีกลไกการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมด้วยวิธีการ “แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่าง” เพื่อให้ผู้น้อยเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวต่อผู้อาวุโส และการวางตัวของผู้อาวุโสต่อผู้น้อย การประหยัดอดทนและสอนให้รู้จักคุณค่าของเวลา รู้คุณค่าของทรัพยากรและปลูกฝังจิตสำนึกการทดแทนคุณแผ่นดิน ผ่านทางประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนา เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างพลังในชุมชนเดียวกันมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นภายใต้เครือข่ายทางจารีตวัฒนธรรมที่เข้มงวดของชาวไทยเชื้อสายมอญโดยมีฐานคิดอยู่บนหลักการทางพุทธศาสนา จึงก่อให้เกิดการครองตนของชาวไทยเชื้อสายมอญที่เน้นความสมถะ เรียบง่าย ถ่อมตน เพราะได้รับการขัดเกลาจากหลักจารีตวัฒนธรรมที่เข้มงวด พวกเขามีความรักและหวงแหนผืนแผ่นดินที่เคยโอบอุ้มพวกเขาเอาไว้ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ รู้จักการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ มาสร้างสรรค์ผลงานที่มีความประณีต กลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญจึงเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองเพราะได้รับการปลูกฝังให้มีความสมถะ ถ่อมตนและเรียบง่าย แต่มีความพร้อมอย่างสูงที่จะเป็นกลไกตรวจสอบทางการเมือง อันจะเป็นรากฐานสำคัญของการเมืองภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต
ผู้เขียนบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรพัชร เสาธงทอง
สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์