จิตสาธารณะเพื่อการพัฒนา

                ความเป็นชุมชนในปัจจุบันมีภาวะเสี่ยงต่อความเปราะบางในหลากหลายมิติทางสังคม การปรับตัวเข้าสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีความสลับซับซ้อน รวมถึงรูปแบบการจัดการทางสังคมแบบเดิมอาจจะไม่ได้ดำเนินเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ผลกระทบจากการพัฒนากระแสหลักคือตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นวัตถุนิยมส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาทางด้านจิตใจ ทำให้สังคมในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในสังคมปัญหาทางสังคมประการสำคัญเกิดจากการขาดจิตสำนึกที่ดีในตัวบุคคลและจิตสำนึกต่อส่วนรวม ดังนั้นการกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลมีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและส่วนรวมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

[ชมรม Volunteer Spirit มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ]

             สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2554) ให้ความหมายของ จิตสาธารณะ (อ่านว่า จิด-สา-ทา-ระ-นะ) ประกอบด้วยคำว่า “จิต” กับ “สาธารณะ” จิต หมายถึง ใจ หรือสิ่งที่ทำหน้าที่คิด นึก และรู้ สาธารณะ หมายถึง ทั่วไป เพื่อประชาชนทั่วไป ดังนั้น จิตสาธารณะ จึงหมายถึง สำนึกหรือความคิดที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมหรือคนทั่วไป คนที่มีจิตสาธารณะมักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมกิจกรรมของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ มีสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ไม่ทำอะไรที่เป็นโทษต่อคนหมู่มาก ไม่นิ่งดูดาย หากเห็นว่าตนจะทำสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้แม้จะเพียงเล็กน้อยก็จะทำ

           

             กระบวนการพัฒนาจิตสาธารณะที่เกิดจากการเรียนรู้ (สุทธิวรรณ เปรี่ยมพิมายและสุวรรณา นาควิบูลย์วงศ์, 2561: 374-375) ได้สรุปประเด็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่

             1) ขั้นการรับรู้ (Receiving) เป็นการให้บุคคลได้รับรู้ถึงสิ่งเร้าว่าดีหรือไม่ดี มีประโยชน์หรือไม่มี หากสิ่งเร้านั้นดีหรือมีประโยชน์จะทำให้เกิดความสนใจหรือเอาใจใส่ต่อสิ่งเร้านั้น จะทำให้บุคคลมีความรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาจิตสาธารณะที่เกิดขึ้น

             2) ขั้นการตอบสนอง (Responding) บุคคลจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ได้รับรู้มาจากขั้นที่ 1 ด้วยความสนใจหรือพึงพอใจซึ่งเกิดจากการได้เลือกแล้ว ขั้นที่ 2 บ่งบอกถึงบุคคลมีความสามารถที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหา สาเหตุของปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นในขั้นต่อไป

             3) ขั้นการเห็นคุณค่าและจัดระบบ (Valuing and Organizing) เมื่อบุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากขั้นที่ 2 แล้ว และเกิดการยอมรับคุณค่าของสิ่งเร้า จึงนำสิ่งเร้านั้นมาจัดระบบคุณค่าที่ดีหรือมีประโยชน์ โดยกำหนดว่าคุณค่าใดควรยึดถือเพื่อนำสู่การปฏิบัติ

            4) ขั้นการสร้างนิสัย (Characterization) เป็นการนำปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขในขั้นที่ 3 มาให้บุคคลปฏิบัติ โดยให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติจนเป็นนิสัย

[ชมรม Volunteer Spirit มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ]

                ดังนั้น การพัฒนาจิตสาธารณะจึงเป็นกระบวนการพัฒนาคนที่ควบคู่ไปกับกระบวนการพัฒนาชุมชน จิตสาธารณะเป็นประเด็นที่สัมพันธ์ในเรื่องจิตสำนึกของบุคคล ความเสียสละ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความตระหนักในการทำประโยชน์เพื่อสังคม มีแนวทางในการปฏิบัติตนที่ดีต่อผู้อื่นหรือต่อสังคมส่วนรวมได้อย่างเหมาะสม สมาชิกในสังคมมีจิตของการเป็น “ผู้ให้และแบ่งปัน” เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความสมัครใจในตัวบุคคลที่มีความตั้งใจทำคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งการแสดงออกเชิงพฤติกรรมสะท้อนถึงการปรับตัวของผู้คนในสังคมที่ดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัตถุนิยมมาฝังรากลึกอยู่ในค่านิยมของการดำเนินชีวิต ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมพัฒนาของประชาชนแนวใหม่ สังคมไทยจำเป็นต้องพัฒนาทั้งด้านจิตใจและวัตถุให้มีความสมดุลไปพร้อมกัน เพื่อสร้างรากฐานความยั่งยืนที่มั่นคงและเข้มแข็งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาศักยภาพคนให้มีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากพลังของทุนมนุษย์

ผู้เขียนบทความ :  อาจารย์พัฒนพงษ์ ธงหาร

อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศูนย์สุพรรณบุรี







2556 ครั้ง

Address
คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ )
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์/โทรสาร : 035709208 , 0899009462

การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 590 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 28,765 ครั้ง
  • ปีนี้ : 164,122 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 397,515 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ