ถ้ำของเพลโตกับนัยยะการเมือง
ในยุคกรีกโบราณนั้น ปรัชญาคุณธรรมของสำนักโสคราติส ถือเป็นหนึ่งในสำนักปรัชญาลำดับต้นที่มีการสอนเกี่ยวกับระบบคุณธรรม อีกทั้งยังมีรากฐานความคิดที่มาจากตรรกศาสตร์และการหาข้อสรุปจากแนวคิดเชิงอุปนัย(การใช้ข้อสรุปย่อยเชื่อมโยงไปสู่ข้อสรุปใหญ่) และเชิงนิรนัย(การใช้ข้อสรุปใหญ่เชื่อมโยงไปสู่ข้อสรุปย่อย) แต่การแสดงความคิดทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาของโสคราติส กลับนำไปสู่การมรณกรรมของเขาในเวลาต่อมาด้วยการถูกตัดสินให้ดื่มยาพิษ ภายหลังการมรณกรรมของเขาทำให้ศิษย์เอกของเขานามว่า เพลโต ได้ทำการเรียบเรียงหนังสือปรัชญาและศาสตร์โบราณอีกหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการว่าด้วยตัวแบบหรือเส้นแบ่งพรมแดนการรับรู้ และหนึ่งในนั้นคือ “อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับการตีความต่อเนื่องในมิติที่ต่างกันออกไป
ถ้ำของเพลโตนั้นเป็นการจินตการถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในถ้ำที่มีปากถ้ำเป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียว กลุ่มคนส่วนใหญ่ของถ้ำจะถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนและบังคับให้หันหน้ามองไปที่ผนังถ้ำเท่านั้น ด้านหลังของนักโทษจะมีผู้คุมอยู่ทางปากถ้ำที่มีแสงสว่างส่องเข้าไปยังถ้ำด้านใน ผู้คุมจะยืนถือสิ่งของต่างๆ ชูขึ้นสูงเพื่อให้เกิด “เงา” ฉายภาพเงาที่ไร้สีสันลงบนผนังถ้ำเท่านั้น นักโทษจึงเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางเงา อีกทั้งยังมีกฎให้นักโทษ “ห้ามหันหลังกลับมามอง” ยิ่งทำให้นักโทษเหล่านั้นเชื่อว่าภาพเงาที่สะท้อนบนผนังถ้ำนั้นคือความจริง
ถ้ำของเพลโต ภาพจาก https://lettersfromlondon19.blogspot.com/2014/12/platos-cave.html
จากเนื้อเรื่องดังกล่าวสามารถถอดความหมายในเชิงการเมืองดังนี้
- ถ้ำ เปรียบเสมือนกรอบหรือการครอบงำทางความคิดให้จำนนต่ออำนาจ หรือจำนนต่อระบบวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่เคยครอบงำสังคมเอาไว้ ซึ่งสามารถแสดงตัวออกมาได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชาวบ้าน จารีตวัฒนธรรม กฎ ความเชื่อ ที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีตและส่งต่อมายังยุคปัจจุบัน
- นักโทษที่ถูกตีโซ่ตรวน เปรียบเสมือนกับประชาชนที่ขาดอิสรภาพ อยู่ภายใต้กฎและการจำกัดสิทธิที่เข้มงวด เสมือนนักโทษที่ถูกตีตรวนเอาไว้และถูกบังคับจากชนชั้นนำของสังคม
- ผู้คุม คือตัวแทนของระบบชนชั้นที่ถืออำนาจของรัฐเอาไว้ในมือ เขาสามารถเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรสาธารณะของประเทศเอาไว้ พร้อมทั้งยังนำทรัพยากรชูขึ้นมาเพื่อให้เงาของทรัพยากรเหล่านั้นฉายไปยังผนังถ้ำ มุ่งหมายให้นักโทษได้มองเห็นหรือรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้
- เงาที่ฉายยังผนังถ้ำ เป็นทรัพยากรสาธารณะที่ถูกผู้คุมหรือระบบชนชั้นผู้ถือกลไกอำนาจรัฐ แย่งทรัพยากรสาธารณะของประชาชนไปถือครองเอาไว้ในมือ ประชาชนที่ถูกจำกัดสิทธิ์อย่างเข้มงวดแม้ทราบว่ามีทรัพยากรเหล่านั้นอยู่แต่ได้เห็นเพียงเงา
- ห้ามนักโทษหันหลังมามอง สื่อความหมายถึงการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ งดเว้นซึ่งกระบวนการตรวจสอบ หรือจำกัดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้พื้นที่ทางการเมืองเสมือนว่าอยู่ภายในถ้ำที่ถูกชนชั้นนำชิงความได้เปรียบเอาไว้อย่างชัดเจน
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำของเพลโต สะท้อนภาพของภาวะความไม่เป็นธรรมทางการเมืองการปกครอง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เพลโตจึงเลือกการถ่ายทอดประเด็นสำคัญผ่านมุมมองเรื่อง “ถ้ำ” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโสคราติส การหลุดพ้นจาก “ถ้ำ” หรือกรอบของระบบคิดที่บิดเบี้ยว จึงต้องออกจากถ้ำเพื่อไปค้นพบโลกภายนอก ที่สำคัญคือทรัพยากรสาธารณะที่เคยเป็นดั่งเงาจะสามารถกลับมา “จับต้องได้” และอยู่ในมือของประชาชน
ผู้เขียนบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรพัชร เสาธงทอง
สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์