ฟังอย่างไร ไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

                    ในยุคปัจุบันเรามีปัญหากับการถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพที่อาศัยความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยมาใช้ในการหลอกลวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เราต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง และุขาดความมั่นใจในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร

              

                             มนุษย์ที่มีร่างกายปกติจะใช้การฟังในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาตามทฤษฎีการสื่อสารจะแยกการได้ยิน (Hearing) กับการฟัง (Listening) ออกจากกัน เพราะการได้ยิน คือ การใช้อวัยวะที่มีโสตประสาทสัมผัสกับเสียงที่ผ่านเข้ามาในหู อาจเป็นเพียงแค่เสียงผ่านเข้ามาแต่ยังไม่ได้มีการแปลความ เช่น การได้ยินเสียงดังจากการก่อสร้าง เสียงจากท้องถนน แม้กระทั่งเสียงจากโทรทัศน์ก็ตาม ส่วนการฟัง เป็นกระบวนการ        รับสารที่มากกว่าการได้ยิน กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ได้ยินเสียงแล้ว ต้องผ่านกระบวนการรับรู้และนำไปสู่การแปลความ และก่อให้เกิดความเข้าใจในเสียงนั้น จึงเรียกว่า  "การฟัง"


            การสื่อสารกันในชีวิตประจําวันโดยปกติเรามักเพียงแต่ “ได้ยิน + รับรู้ (แปลความ) + เข้าใจ” กระบวนการเพียงแค่นี้ถือว่า เราได้รับฟังสิ่งที่ต้องการรับรู้ได้แล้ว บางคนก็เชื่อในสิ่งที่ฟังทันที ทําให้พลาดโดนหลอกได้ง่าย แค่มิจฉาชีพโทรศัพท์มาเล่าข้อมูล พร้อมเชิญชวนให้ทําอะไรสักอย่าง  ก็เชื่อแล้ว กลายเป็นความเสียหายทั้งทรัพย์สินและอาจถึงชีวิต ฉะนั้น การที่เราได้รับฟังสิ่งใดมา จึงอาจยังเชื่อไม่ได้ ควรต้องพินิจพิจารณาให้รอบคอบต่อไปอีก นั่นคือ “การใช้กระบวนการฟังอย่างมีวิจารณญาณ” เป็นตัวช่วย ในการฟังทุกครั้งนั่นเอง

 

            การฟังอย่างมีวิจารณญาณ คือการฟังที่มากกว่า การได้ยิน + รับรู้ + เข้าใจ แต่ต้องมีการคิดเพิ่มเติมต่อไปอีกด้วย นั่นคือ การวิเคราะห์ + สังเคราะห์ +วินิจฉัย + ประเมินค่า แล้วจึงนําไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

           - การวิเคราะห์ คือ การย่อยสิ่งที่ฟังออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น นั่นคือเมื่อฟังแล้วจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เป็นเรื่องอะไร ใคร ทําอะไร ทําทําไม ทําที่ไหน ทําเมื่อไร ทําอย่างไร เป็นต้น

           - การสังเคราะห์ คือ การขมวดเนื้อหาสาระ องค์ประกอบต่าง ๆ มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าใจได้ถ่องแท้และเห็นภาพ ได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการบอกถึงเจตนาของผู้ส่งสารด้วยว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไรกันแน่

           - การวินิจฉัย คือ การคิดอย่างแยบคาย ด้วยการพิจารณาถึงเหตุและผลของเรื่องที่ฟัง รวมถึงการจําแนกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และความรู้สึกของผู้ส่งสารออกจากกันด้วย

            - การประเมินค่า คือ การทบทวนครั้งสุดท้ายเพื่อนําไปสู่ข้อสรุปด้วยตนเอง ว่าสิ่งที่ฟังมีสาระประโยชน์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ดี หรือไม่ดี ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ สามารถพยากรณ์ไปล่วงหน้าว่าจะได้รับผลดีหรือเสียอย่างไร ก่อนตัดสินใจเชื่อในสิ่งนั้น

                กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่ว่าเราจะฟังอะไรก็ตาม ไม่ควรจบแค่ ได้ยิน + รับรู้ + เข้าใจ เท่านั้น แต่ควรมีการ วิเคราะห์ + สังเคราะห์ + วินิจฉัย + ประเมินค่า ต่อไปอีก เพื่อให้เกิดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ อันเป็นตะแกรงในการร่อนหาความจริง หรือความเป็นไปได้ให้มากที่สุด ซึ่งหวังว่าคงพอจะเป็นแนวทางให้ผู้ฟังสารหรือผู้รับข้อมูลต่าง ๆ ได้ใช้กระบวนการฟังอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนที่จะเชื่อ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

ผู้เขียนบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยเอก ดร. ธนู ทดแทนคุณ

ประธานผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิชาาภาษาไทยเพื่อนวัตกรรมการสื่อสารและอาชีพ ศูนย์นนทบุรี

            อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษา (ภาษาไทย) 

      







596 ครั้ง

Address
คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ )
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์/โทรสาร : 035709208 , 0899009462

การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 590 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 28,765 ครั้ง
  • ปีนี้ : 164,122 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 397,515 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ